เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 2 พ.ย.65 บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมหมาย แซ่หลิม ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชนต่อร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เพิ่มเติม) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ โรงแรมศุภาลัย ซีนิค เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา
สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลเสนอขอความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปยัง สผ.ในช่วงปลายเดือน พ.ย.2565 นี้
โดย น.ส.นวรัตน์ เกี้ยวมาศ ผู้จัดการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า การศึกผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากโครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าคลอก และพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี 2 ตำบล ครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอต่อ สผ.ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยโครงการนี้ได้เริ่มทำ EIA มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 6 ปีแล้ว
สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า ทั้งช่วงการก่อสร้างและหลังการเปิดให้บริการ เป็นมารีน่าที่เกิดจากการขุดแอ่งจอดเรือลึก 8 เมตร ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เป็นนากุ้งร้าง เชื่อมต่อกับทะเล สามารถจอดเรือสำราญ เรือสปีดโบ๊ตได้ทั้งหมด 75 ลำ แบ่งเป็นเรือขนาด 18 เมตร 45 ท่า เรือขนาด 11 เมตร 20 ท่า และเรือขนาด 16 เมตร 9 ท่า ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 22 เดือน ซึ่งจะก่อสร้างหลัง EIA ผ่านการเห็นชอบของ สผ.
โดยได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 22 ประเด็น ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกัน
โดยในช่วงการขุดแอ่งจอดเรือและรื้อคันดินที่จะเชื่อมต่อกับทะเลนั้นเป็นเวลา 4 เดือน จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการฟุ้งกระจายของตะกอนดิน ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยการทำม่านกันตะกอน 2 ชั้น ซึ่งจะทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายได้ไกลสุดไม่เกิน 600 เมตร รวมไปถึงการขุดจะต้องขุดในช่วงที่น้ำลดสูงสุด และขุดในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ ดินที่ได้จากการขุดจะนำไปใช้ในการถมพื้นที่ที่กำหนดเป็นจุดบริการ ส่วนที่เหลือจะขุดเป็นบ่อเก็บดินมีผ้าใบรองและห่อไว้ เพื่อป้องกันตะกอนดินไหลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและลงทะเล
ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและปะการังนั้น จากการศึกษาพบว่าปะการังมีอยู่ 3 จุด คือ เกาะหงำ ห่างจากโครงการ 2.8 กม. เป็นปะการังฟองน้ำและปะการังโขด เกาะเฮ ห่างจากโครงการ 2.2 กม. เป็นปะการังฟองน้ำและโขด และหลังแดง ห่างจากโครงการ 1.3 กม. มีกัลปังหาอยู่ 1 หย่อม และหญ้าทะเล ซึ่งการติดตั้งม่านกันตะกอน 2 ชั้น จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทั้ง 3 จุด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะในหลายๆ ด้านที่จะเกิดประโยชน์กับชุมชน และประชาชนในแง่การประกอบอาชีพ การท่องเที่ยว การกีฬา รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ในการป้องกันไม่เกิดผลกระทบทั้งช่วงการก่อสร้างและหลังเปิดให้บริการ รวมไปถึงมีการสอบถามถึงการเชื่อมโครงการกับทางออกสู่ทะเลและการขุดลอกล่องน้ำที่จะเชื่อมออกสู่ทะเลอีกด้วย
สำหรับโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า เป็นโครงการลงทุนโดยนักลงทุนท้องถิ่นภูเก็ตในพื้นที่ป่าคลอก โดยนำที่ดินที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งร้างมาพัฒนาเป็นมารีน่า โดยขุดแอ่งจอดเรือยอชต์ในที่ดินของเอกชน เป็นท่าเทียบเรือยอชต์ รองรับเรือได้ทั้งหมด 75 ลำ เป็นเรือขนาดเล็กกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ขนาดเรือยาวไม่เกิน 18 เมตร ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกที่เป็นมารีน่าและคลับเฮาส์ ประมาณ 800 ล้านบาท และหลังจากการก่อสร้างมารีน่าแล้วเสร็จไปได้สักระยะหนึ่ง ทางโครงการมีแผนที่จะทำเป็นที่พักอาศัยแบบพูลวิลล่า